คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกอาชีพ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งเป็นวัยที่ติดเพื่อน เริ่มสนใจเรื่องเพศและความรุนแรงทางอารมณ์ เนื่องจากในช่วงอายุ 11-13 ปี เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่ายกายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียง, ความสูง, ฮอร์โมนรวมไปถึงเรื่องเพศที่เริ่มมีอารมณ์ทางเพศ บางรายอาจหมกหมุ่น จนรู้สึกผิดต่อตนเอง แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้การเรียนการสอนที่ต้องเปลี่ยนไป ไม่สามารถไปโรงเรียนเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเพื่อนเฉกเช่นในสภาวะปกติ นานวันเข้าเริ่มกังวลเกี่ยวกับช่วงชีวิตวัยรุ่นที่หายไป การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในแบบปกติเปลี่ยนไป เกิดความเครียดและกังวลต่ออนาคตและสถานการณ์ในปัจจุบัน

ทำอย่างไรจึงจะผ่านปรากฏการณ์เหล่านี้ไปได้

ผู้ปกครองควรเฝ้าดูพฤติกรรมของเด็ก ๆ วัยรุ่น โดยเฉพาะความคิดในแง่ลบหรือพฤติกรรมเศร้าและกังวล ควรเข้าไปพูดคุยหรือพาทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการใช้ชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ เพื่อให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ๆ เพื่อลดความกังวลและความเครียดลงได้
อย่าดุ ด่า ลูก หรือใช้คำหยาบคายหากเขากระทำผิด ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนอกจากเด็ก ๆ วัยรุ่นจะไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ แล้ว ยิ่งทำให้เด็กมีความเครียดสะสม หากทำอะไรผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ควรดุด่าหรือพูดจาไม่ดีกับลูก เพราะจะทำให้เด็กตีตัวออกห่างและก้าวร้าวมากขึ้นได้
สร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก และผู้ปกครองได้เปิดใจ เมื่อเด็กรู้สึกถึงความปลอดภัยและพร้อมที่จะเล่าระบายถึงปัญหาที่มีอยู่ ผู้ปกครองต้องเข้าใจและไม่เร่งรีบในการตัดสินปัญหาหรือสอน เพราะอาจทำให้เด็กถอยหนี
สิ่งที่เด็กเล่ามาควรเก็บเป็นความลับ เพราะบางครั้งอาจเป็นเพียงแค่การระบายของเด็ก ๆ วัยรุ่น คงไม่อยากทำซ้ำ ทวนซ้ำ ผู้ปกครองต้องค่อย ๆ หาวิธีในการแก้ไข อย่ารวบรัด ควรทำเป็นลำดับขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากช่วยเหลือแบบรวบรัด ก็จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ไร้ความสามารถ

หากผู้ปกครองและเด็ก ๆ ให้ความร่วมมือในการเปิดใจเพื่อที่จะระบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะช่วยให้สามารถผ่าวิกฤตนี้ไปได้ เพราะอย่าลืมว่าความอดทนของเด็ก ๆ วัยรุ่นมีน้อยกว่าผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ปกครองต้องเข้าใจ ถึงการรอคอยของเด็ก ๆ ที่มักจะไม่สามารถทำได้ ทำให้หงุดหงิดจนระบายออกมาทางอารมณ์ที่กำลังแปรปรวนในขณะนั้นได้ ยิ่งในช่วงเวลาของการเรียนออนไลน์ มักจะส่งผลต่ออารมณ์ร่วมในการเรียนของเด็ก ๆ มาก เช่น การตอบคำถาม, ความสนใจของเด็ก หากเด็กตอบไม่ได้หรือเรียนแล้วไม่เข้าใจ อาจทำให้ไม่ร่วมตอบคำถามและไม่สนใจเรียนต่อไปได้