พฤติกรรมการกินผิดปกติเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เกิดจากความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวมากเกินไปทำให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยกว่าครึ่งอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก อีกส่วนที่เหลือมักจะกินแล้วล้วงคอ มาดูกันว่าพฤติกรรมการกินแบบไหนเข้าข่ายผิดปกติและควรแก้ปัญหานี้อย่างไร

พฤติกรรมการกินผิดปกติมีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช

-โรคคลั่งผอม เป็นประเภทที่กลัวน้ำหนักขึ้น อดอาหารทั้งที่หิวและน้ำหนักอาจต่ำกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว

-โรคล้วงคอ เป็นประเภทกินมากแล้วไปล้วงออก กินยาระบาย หรือออกกำลังกายหนัก เพราะไม่อยากอ้วน

-โรคกินไม่หยุด เป็นประเภทกินเร็ว กินมาก ควบคุมตัวเองไม่ได้ กินจนแน่นแล้วรู้สึกผิดจึงล้วงคออาเจียนออกมา

-โรคเลือกกินอาหาร เป็นประเภทช่างเลือกและกินน้อยผิดปกติ ไม่กังวลเรื่องน้ำหนักหรือรูปร่าง ข้อเสียคือเจ็บป่วย เกิดภาวะขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวลด โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เสียชีวิตได้

-โรคคลั่งกินคลีน เป็นประเภทเลือกกินเฉพาะอาหารสุขภาพ เช็คส่วนประกอบและโภชนาการก่อนกิน อาจงดอาหารบางชนิดที่คิดว่าไม่ดีต่อสุขภาพไปเลย เช่น น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เนื้อสัตว์

การพิถีพิถันเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นเรื่องดี แต่ความวิตกกังวลและช่างเลือกมากเกินไปเป็นปัญหาส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการกินผิดปกติ ถือเป็นโรคที่อันตรายและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางจิตเวช

ข้อแนะนำการรักษาพฤติกรรมการกินผิดปกติ

ไม่ว่าใครก็มีปัญหาด้านการกินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ห่วงสวยและคำพูดของคนอื่นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด เสียความมั่นใจในตนเองและเริ่มมีพฤติกรรมการกินผิดปกติโดยไม่รู้ตัว หากคุณกำลังประสบปัญหานี้และรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับมือเพียงลำพัง เรามีวิธีการแก้ปัญหามาแนะนำดังนี้

-การรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมผิดปกติเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนอื่นควรศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ถ้าไม่กินเข้าไปเลยจะเกิดอะไร เรียนรู้วิธีการกินที่เหมาะสมกินอย่างไรให้มีสุขภาพดี

-ควรเปิดใจกับเพื่อน ครอบครัว และนักบำบัดมืออาชีพ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอความช่วยเหลือแก้ไขโดยเร็วที่สุด พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติเป็นภาวะที่ร้ายแรง อาจส่งผลรุนแรงให้วัยเด็กและวัยหนุ่มสาวมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ เกิดภาวะขาดสารอาหาร มีความเครียดและเจ็บป่วยอ่อนแอในระยะยาว

-ความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด ผู้ป่วยต้องเริ่มคิดบวก เลือกคนที่คุณจะคุยด้วยและอยู่ท่ามกลางคนที่มองโลกในแง่ดี ไม่ฟังคำพูดเชิงลบหรือคำวิจารณ์ของคนอื่น ปรับพฤติกรรมการกินไปพร้อมกับการรักษาทางด้านสุขภาพจิต การรักษาจะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หากผลักดันตัวเองมากเกินไปอาจส่งผลร้ายให้ยิ่งวิตกกังวลจนป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ารุนแรง

พฤติกรรมการกินผิดปกติเกี่ยวกับกับโรคทางจิตเวช ต้องใช้ความอดทนและเวลาในการรักษา เพราะปัญหาไม่ได้หายไปในชั่วข้ามคืน การยอมรับว่าตนเองป่วยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากนั้นเริ่มปรับนิสัยการกินและการใช้ชีวิต หากชอบออกกำลังกายก็ทำต่อไป หางานอดิเรกทำเสริมได้ยิ่งดี มีเวลาอ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ มองสิ่งที่ชอบและทำได้ดีเพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง มีความพอใจและภาคภูมิใจไม่ต้องไปแคร์คำพูดของคนอื่นอีก