แมวเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดคนที่มีความน่ารักน่าเอ็นดูและแสนรู้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าใครที่เลี้ยงแมวก็อยากให้อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ อย่างมีสุขภาพดี ทั้งนี้ก็ต้องใส่ใจศึกษาข้อมูลด้านอาหาร สุขลักษณะการเลี้ยงดู และโรคที่พบบ่อยในแมวเพื่อการระมัดระวังด้วย เรามาดูกันว่า โรคร้ายแรงในแมวที่ทำให้อายุสั้นมีอะไรบ้างและป้องกันได้อย่างไร

โรคไข้หัดแมว – โรคไข้หัดแมวเป็นการติดเชื้อ Feline Panleukopenia Virus จากสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงดู มักพบบ่อยในลูกแมวที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หากติดเชื้อนี้จากอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนอุจจาระของแมวที่มีเชื้อ จะทำให้อาการทรุดและลุกลามอย่างรวดเร็ว ต้องระวังมากในผู้ที่เลี้ยงแมวในระบบเปิดให้แมวเดินไปได้อย่างอิสระ อาจติดเชื้อนี้กลับมาได้ การป้องกันทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนตามกำหนด

โรคหวัดแมว – โรคหวัดแมวหรือ Feline Respiratory Disease มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ ไวรัส FHV (Feline Herpes Virus) และ ไวรัส FCV (Feline Calici Virus) โดยจะมีผลร้ายต่อระบบทางเดินหายใจ สังเกตจากแมวจะมีอาการซึม มีน้ำมูกมาก จามบ่อย เยื่อบุตาอักเสบ น้ำลายเยอะ ฯลฯ หากแม่แมวที่กำลังท้องติดเชื้อหวัดแมวก็จะแท้งลูกได้ด้วย ฉะนั้นหากสังเกตพบว่ามีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น ต้องรีบนำไปพบสัตวแพทย์

โรคมะเร็งเม็ดเลือดแมว – โรคมะเร็งเม็ดเลือดเกิดจากเชื้อไวรัส Feline Leukemia Virus ไปทำลายไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของแมวทำงานได้น้อยลง จึงติดเชื้อแทรกซ้อนและตายในเวลาไม่นาน เชื้อนี้ส่งผ่านจากน้ำนมหรือรกของแม่แมวไปที่ลูกแมวตั้งแต่ตอนเกิด หรือการหากแมวเคยประสบอุบัติเหตุและได้รับเลือดแมวบริจาคที่มีเชื้อนี้ก็จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดได้เช่นกัน สิ่งที่ช่วยป้องกันได้ คือ การฉีดวัคซีนตั้งแต่แมวแรกเกิดและตรวจร่างกายแมวเป็นระยะ

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ – ปัญหาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส Feline Infectious Peritonitis ที่มาจากการ กินอาหารและน้ำสกปรก รวมถึงกระบะทรายที่ใช้ร่วมกันกับแมวที่มีเชื้อนี้ หากเลี้ยงแมวจำนวนมากจะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดต่อกันได้ง่าย โดยเริ่มจากมีอาการซึม เป็นไข้ เบื่ออาหาร ถ่ายท้อง หากปล่อยให้เป็นมากจะท้องบวมและรักษาได้ยาก การป้องกันคือ การฉีดวัคซีนและดูแลความสะอาดในบริเวณที่เลี้ยงแมวสม่ำเสมอ

จะเห็นได้ว่าโรคร้ายแรงในแมวที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนและเลี้ยงแมวในระบบปิด เพื่อป้องกันไม่ให้ไปสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำ ฯลฯ หากพบว่าแมวมีอาการผิดปกติในส่วนใดของร่างกาย ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนและนำไปให้ตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว