การท่องเที่ยวไทยในยุค 2018

การท่องเที่ยวไทยในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาโด่งดังในลักษณะของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร ฟื้นฟูธรรมชาติ เช่น ระบบป่าชายเลน การดูแลเต่าทะเล ซึ่งได้อาศัยความมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์ รายการทีวี เพื่อสนับสนุนกิจกรรมท่องเที่ยวไทยในเชิงกระตุ้นจิตสำนึกรักธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ

สำหรับยุคสมัย 2018 ที่โลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของแทบทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะคนวัย 18 -35 ปีที่เรียกว่า ชาวมิลเลนเนียน ก็ทำให้สไตล์กิจกรรมการท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนไป โดยแพล็ตฟอร์ม (platform) และแอปพลิเคชั่น ใหม่ ๆ ในระยะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และต่อจากนี้จะมีบทบาทมากที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

แนวโน้มที่เปลี่ยนไปของการท่องเที่ยวไทยในยุค 2018

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สูงวัย (วัยทองและวัยหลังเกษียณ) ทั้งไทยและเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากประเทศไทยเองก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ (Complete Age Society) ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับประชากรส่วนใหญ่ของโลก ประกอบกับการขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เนื่องจากค่าครองชีพในไทยที่ไม่แพงเกินไป สำหรับการชื่นชมความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และการฟื้นฟูสุขภาพกายและใจไปพร้อม ๆ กัน

จึงทำให้มีการขยายตัวของธุรกิจสถานพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) ทั้งในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในเขตตัวเมืองและเกาะต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต เพื่อรองรับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสุขภาพ ทั้งของคนในประเทศ (เน้นที่กลุ่มผู้มีรายได้ 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป) และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยเฉพาะประเทศไทย (ซึ่งหลาย ๆ สถาบันวิเคราะห์ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคนี้)

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism จากต่างชาติที่จะมีอิทธิพลสูงต่อการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินไว้ คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีความสนใจในบริการทางการแพทย์และสุขภาพเฉพาะด้าน คือ การรักษาภาวะมีบุตรยากและการดูแลด้านความงามและสุขภาพด้วยศาสตร์ชะลอวัย (Antiaging) ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงอย่างมากทั้งในภาคปฏิบัติและงานบริการที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและภาคการเรียนการสอนที่มีหลักสูตรระดับนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ (Anti-aging and Regenerative Science) ที่รู้จักกันโดยทั่วไป

ทั้งนี้ ตลาดทางธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะมีแนวโน้มที่สดใสและมั่นคงได้นานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ต่อเมื่อประเทศไทยมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการค้าที่ดี บนพื้นฐานทัศนคติที่ตั้งใจจะ “ก้าว” พัฒนาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน มิใช่มุ่งหวังจะเป็นคู่แข่งทางการค้าอย่างในอดีตที่ผ่านมา